หลายคนที่เดินเข้าห้างสรรรพสินค้า เดินเข้าสถานีรถไฟฟ้า เดินผ่านจุดตรวจสัมภาระผู้โดยสารขาออกที่ท่าอากาศยานต่างๆ น่าจะคุ้นเคยผ่านตากับประตูสี่เหลี่ยมที่เขียนยี่ห้อว่า GARRETT หรือยี่ห้ออื่นๆ หรือบางที่ก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เอาด้ามพลาสติกดำๆ แบนๆ ในมือมาโบกเวียนๆ รอบๆตัวเราก่อนจำให้เดินผ่านเข้าไป หรือบางทีก็ต้องโดนทั้ง 2 แบบ คือทั้งเดินผ่านประตู และทั้งมีด้ามพลาสติกดำๆ มาโบกวนร่างกาย นั่นคือกระบวนการตรวจค้นหา อาวุธครับ ตรวจหามีด ตรวจหาปืน ตรวจหาวัตถุที่เป็นเหล็ก ที่คาดว่าอาจจะพกซ่อนมา และมีโอกาสอาจใช้เป็นอาวุธ ด้วยเครื่อง Metal Detector แบบประตูเดินผ่าน และแบบมือถือ ในทางกลับกัน หากเครื่องมือเหล่านี้ถูกติดตั้งอยู่ที่ทางเข้าออก ของพนักงานในโรงงาน ในออฟฟิศ นั่นคือมันถูกใช้งานเป็นทั้งเครื่องตรวจอาวุธในทางขาเข้า และเครื่องป้องกันการขโมยสินค้าจากพนักงานบริเวณทางขาออก (เช่นในโรงงานผลิตเครื่องประดับ Jewelry โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์) นอกจากนี้ ก็ยังมีเครื่องตรวจโลหะแบบที่เป็นเครื่องออกแบบมาโดยเฉพาะให้ใช้ตรวจตามพื้นดิน ตามพุ่มไม้ทางเดิน (Ground Scan Metal Detector) แบบนี้ เป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกับทางทหารใช้ในการตรวจหาวัตถุระเบิด หรือกับดักระเบิดใต้พื้นดิน ที่ข้าศึกนำมามาฝังซ่อนเอาไว้
แล้วอุปกรณ์พวกนี้ มันทำงานยังไง มันรู้ได้ไงว่ามีคนแอบซ่อนอาวุธ ซ่อนของเอาไว้ตามตัว ? มีคนสงสัยครับ !!
เอางี้ผมจะเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ ไม่ต้องวิชาการเยอะให้ปวดหัว วิทยาศาสตร์เครื่องตรวจจับโลหะ ( Metal Detector Science) วิทยาศาสตร์ของเครื่องตรวจจับโลหะ มีพื้นฐานมาจากหลักการทางแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เมื่อก่อนสมัยเราเรียนมัธยมต้น (ย้อนนึกไปถึงสมัย อายุ 14 อีกครั้ง) พวกเราน่าจะเคยได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การทำแม่เหล็กไฟฟ้า ที่คุณครูสั่งการบ้านให้หาตะปูตัวใหญ่ พร้อมด้วยลวดทองแดงสายไฟ ขนาดความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วก็ถ่านไฟฉายตรากบ ให้เอามาในคาบการทดลองวิทยาศาสตร์ ในวันนั้นคุณครูให้เอาขดลวดทองแดงสายไฟพันเกลียวรอบตะปูตัวใหญ่ โดยให้เหลือปลายสายขดลวดทองแดงไว้ทั้ง 2 ด้านให้ยาวพอไปจิ้มต่อกับขั้ว+ และขั้ว – ที่ถ่านไฟฉายตรากบ นั้นคือการทำให้ตะปูตัวนั้นกลายเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า มีพลังงานใช้ดูดเศษเหล็กเล็กๆ ลูกแม็กเย็บกระดาษต่างๆได้ นั่นคือเมื่อมันเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า มันก็จะหาดูดเหล็กต่างๆได้ นี่คือหลักขั้นต้น ทีนี้ต่อมาได้มีการใช้หลักการนี้ พัฒนาให้เกิดเป็นการค้นหาเหล็ก โดยหลักคิดพื้นฐานที่ว่า เครื่องตรวจจับโลหะนั้น ทำงานได้โดยอาศัยหลักการสร้างความสมดุลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากขดลวดส่งสัญญาณ TX ( Transmitter Coil ) ซึ่งมีหลักการทำงานที่คล้ายกับคลื่นความถี่วิทยุ ส่งไปยังขดลวดรับสัญญาณ RX ( Receiver Coil ) ซึ่งทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้น เมื่อมีสิ่งใดที่เหนี่ยวนำไฟฟ้าที่เกิดจากสนามแม่เหล็กนี้ ก็แสดงว่าเป็นโลหะนั่นเอง และอีกหลักการก็คือ การใช้กระแสไฟฟ้าไหลวน ( Eddy Current ) คือการทำให้เกิดการไหลวนของกระแสไฟฟ้าภายในแท่งตัวนำ ซึ่งจะไหลวนเป็นวงกลมก้นหอยทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก และนำไปใช้ในการตรวจจับโลหะ เมื่อมีวัตถุโลหะกระทบกับสนามแม่เหล็กซึ่งสร้างโดยเครื่องตรวจโลหะ จะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลวนขึ้นในวัตถุนั้น ๆ ซึ่งกระแสไฟฟ้านี้จะสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมาเป็นของตัวเอง และจะทำการต่อต้านกับสนามแม่เหล็กของเครื่องตรวจจับโลหะ การผสมผสานระหว่างกฎสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และกฎของกระแสไฟฟ้าไหลวนนี้ ทำให้เครื่องตรวจจับโลหะสามารถตรวจจับโลหะได้ โดยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากตัวโลหะ ทำให้เครื่องตรวจระบบการอ่านสัญญาณก็จะแปลงค่าสัญญาณไฟฟ้าส่งเป็นสัญญาณเตือนตามรูปแบบต่างๆ ตามที่เครื่องแต่ละรุ่นกำหนดว่า หากตรวจเจอโลหะแล้วให้แสดงผลแบบใด ซึ่ง อาจจะเป็นสัญญาณเสียง สัญญาณแสง สัญญาณเข็มมอนิเตอร์ หรือเป็นสัญญาณ Digital ส่งไปที่ระบบควบคุมคอมพิวเตอร์ ตามแต่ ยี่ห้อ Function และราคา ของเครื่องตรวจจับโลหะนั้นๆ
เครื่องตรวจจับโลหะมี 2 ประเภทหลักๆ
เครื่องตรวจโลหะมีหลายประเภท และในแต่ละประเภทก็จะมีการตรวจจับโลหะที่แตกต่างกันออกไป จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกประเภทของเครื่องตรวจโลหะให้เหมาะสมกับประเภทของการใช้งานของท่าน
- เครื่องตรวจจับโลหะความถี่ต่ำ ( Very Low Frequency, VLF ) หลักการทำงานคือ ใช้ขดลวดสองตัว คือ Transmitter (TX) และ Receiver (RX) สร้างสนามแม่เหล็กความถี่ต่ำขึ้นมา และมีระบบคอยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากโลหะรอบ ๆ ตัว เครื่องชนิดนี้มีความละเอียด อ่อนไหวค่อนข้างมากต่อโลหะต่าง ๆ นิยมใช้ในการหาสมบัติต่าง ๆ และใช้ในสถานที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง
- เครื่องตรวจโลหะแบบเหนี่ยวนำไฟฟ้า ( Pulse Induction, PI ) เครื่องนี้ มีหลักการที่ตรงกันข้ามกับเครื่องตรวจจับโลหะแบบความถี่ต่ำ ซึ่งเครื่องชนิดนี้จะมีเพียงขดลวดเพียงขดเดียว ที่ยิงสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าลงไปในดิน และเมื่อแม่เหล็กไฟฟ้านั้นตรวจพบกระทบกับวัตถุโลหะ ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลวนขึ้นที่วัตถุนั้น ๆ และทำให้วัตถุนั้นเกิดสนามแม่เหล็กขึ้นด้วย ซึ่งการเกิดสนามแม่เหล็กนี้ จะสะท้อนกลับทำให้เครื่องตรวจจับโลหะสามารถตรวจพบได้ เครื่องตรวจโลหะชนิดนี้ นิยมที่จะนำไปใช้ตรวจโลหะที่อยู่ภายในดินเป็นหลัก เช่น ตรวจหาโลหะในดิน เช่นกับระเบิด เงิน ทอง และตรวจหาโลหะใต้น้ำ และนักล่าสมบัติมักนำไปใช้ในการหาโบราณวัตถุที่อยู่ใต้ดิน และหาสิ่งของมีค่าตกหล่นบนชายหาด
เครื่องตรวจจับโลหะที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน
ปัจจุบัน เครื่องตรวจจับโลหะที่นิยมใช้กันในโลกนี้ มี อยู่ 5 ชนิด
- Conveyor Metal Detector เครื่องตรวจจับโลหะแบบสายพาน อุตสาหกรรม
- Walk Through Metal Detector เครื่องตรวจจับโลหะประตูเดินผ่าน
- Hand Held Metal Detector เครื่องตรวจจับโลหะแบบพกพา
- Ground Scand Metal Detector เครื่องตรวจจับโลหะแบบค้นหาใต้พื้นดิน
- Pinpoint Metal Detector เครื่องตรวจจับโลหะแบบชี้จุด ระบุตำแหน่ง
โดย ทั้ง 5 ชนิด มีรูปแบบลักษณะตัวเครื่องแตกต่างกัน และลักษณะการใช้งานก็แตกต่างกัน
- เครื่องตรวจจับโลหะแบบสายพาน (Conveyor Metal Detector)
เครื่องตรวจจับโลหะแบบนี้ ส่วนมากจะใช้กับงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก จะใช้ในการตรวจหาโลหะที่หลุดปนมาในขั้นตอนผลิตอาหาร หรือในไลน์สายพานสินค้า ซึ่งแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบตามขนาดรูปทรงผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตัวเครื่องอาจมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ตามการออกแบบของไลน์ผลิตสินค้า หรือตามการคร่อมไลน์สายพาน
- เครื่องตรวจจับโลหะแบบประตูเดินผ่าน (Walk Through Metal Detector)
เครื่องตรวจจับโลหะแบบนี้ จะใช้งานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่จัดงานแสดงสินค้า งานกาชาด สถานีรถไฟฟ้า สถานทูต อาคารศาลยุติธรรม สนามบิน โรงงานผลิตเครื่องประดับมีค่า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน สถานศึกษา สถานบันเทิง เป็นต้น โดยเครื่องตรวจจับโลหะแบบนี้ มักจะถูกติดตั้งในสถานที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยสูง มีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตตรวจค้นผู้เดินผ่าน ประจำตลอดเวลา และมักจะใช้งานร่วมกับเครื่องตรวจจับโลหะแบบที่
- เครื่องตรวจจับโลหะแบบพกพา (Hand Held Metal Detector)
เครื่องตรวจจับโลหะแบบนี้มักจะใช้งานร่วมกับ เครื่องตรวจจับโลหะแบบประตูเดินผ่าน ซึ่งเครื่องตรวจโลหะแบบนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อจับอาวุธชิ้นใหญ่ แต่จะไม่เน้นให้ตรวจจับวัตถุชิ้นเล็ก เนื่องจากความไวในการตรวจจับโลหะได้ค่อนข้างต่ำ ทำให้อาจจะตรวจข้ามวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ตรวจไม่เจอ เราจะเห็นการใช้งานเครื่องแบบมือถือนี้ได้ตาม สถานที่ราชการต่างๆ โรงงาน และท่าอากาศยาน โดยเฉพาะในท่าอากาศยานนั้นมีการใช้งานเป็นจำนวนมาก เวลาที่ไปขึ้นเครื่องบิน ให้ลองสังเกตดูว่า หลังจากที่ท่านไปที่ชิ่งทางผู้โดยสารขาออก พอเดินผ่านออกจากประตูตรวจจับโลหะแบบเดินผ่าน พนักงานรักษาความปลอดภัยสนามบินก็จะเอาเครื่องแบบมือถือนี้ มาโบกเวียนรอบๆ ตัวท่านอีกครั้ง
- เครื่องตรวจจับโลหะใต้ดิน (Metal Detector)
เครื่องตรวจจับโลหะแบบนี้ นิยมใช้ในการค้นหาโบราณวัตถุ ที่อยู่ใต้ดิน หรือตามพื้นดินที่ต่างๆ เครื่องนี้เป็นที่นิยมมากสำหรับชาวบ้านสายล่าสมบัติ เนื่องจากการใช้งานไม่ยุ่งยาก สามารถพกพาใช้งานไปได้ทุกพื้นที่ เน้นใช้ Scan หาของโบราณ โบราณวัตถุ และของมีค่าสร้อยแหวนเงินทองตกหล่นหาย
- เครื่องตรวจจับโลหะตัวชี้เป้า (Pin Pointer)
เครื่องตรวจจับโลหะแบบนี้ส่วนมากนิยมใช้งานร่วมกับ ” เครื่องตรวจจับโลหะใต้ดิน ” เพราะเครื่องนี้เป็นจัดอุปกรณ์เสริม สำหรับใช้งานระบุตำแหน่งการค้นหาโลหะที่ใกล้และกระชับมากขึ้น แบบที่เรียกว่า เรา Scan หาด้วย Ground Scan Metal Detector จนเจอจุดในวงแคบ ๆ ตรงนั้นแล้ว ขุดจนใกล้จะเจอแล้ว เครื่องนี้จะมีขนาดที่เล็กเท่ากระบอกไฟฉาย ลักษณะการใช้งานจะเน้นจิ้มสแกนให้ใกล้กับโลหะ โดยการใช้งานรุ่นนี้ คือเน้นวัตถุโลหะชิ้นเล็กที่ฝังอยู่ตามพื้นดิน เราอาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เครื่องรุ่นนี้จะช่วยในการระบุตำแหน่งที่แน่นอนในการขุดหาโลหะนั้นได้ดีมากยิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เครื่องตรวจจับโลหะ เครื่องตรวจอาวุธ ติดต่อ
กัมปนาถ ศรีสุวรรณ
Life Protect Company Limited
Office Tel. 02-9294345 Mobile: 097-1524554
Email: LPCentermail@gmail.com
ID Line: Lphotline