Posted on

รู้มั้ยว่า “เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก” กับ “เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด” ต่างกันยังไง ?

ที่ใช้ๆ วัดไข้กันอยู่ รู้มั้ยว่า “เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก” กับ “เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด” มันต่างกันยังไง ?

หมายเหตุ: บทความนี้ จัดทำขึ้นมาเพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับ Infrared Thermometer / Non Contact Thermometer

วันนี้ 4 กันยายน 2563 ได้ทราบข่าว คุณ DJ ที่เข้าเรือนจำคลองเปรม ตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19 หลังจากที่เราไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมา 101 วัน พอดู Time Line การเดินทางของพี่ DJ แล้วก็นึกถึงว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราลั้ลลากันมา 101 วัน การ์ดตกกันไปเยอะ คราวนี้ก็คงถึงเวลา ยกการ์ด ใส่หน้ากาก ล้างมือ กินร้อน ช้อนกู รักษาระยะห่าง Social Distancing ยิงหน้าผากด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ กันอีกรอบแล้ว

มาวันนี้ 21 ธันวาคม 2563 มาใหม่อีกแล้ว จังหวัดสมุทรสาคร Lock down แรงงานต่างด้าวติดเชื้อกันทะลุ แปดร้อยกว่าคน !!

ได้เวลายกการ์ด….หาของป้องกัน คัดกรองเชื้อโรคกันอีกแล้วซินะ

         พูดถึงไอ้เครื่องยิงหน้าผากวัดไข้ ที่โดนจ่อยิงเวลาเข้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ  บางวันวัดไข้แล้วตัวเย็น บางวันวัดแล้วตัวร้อนซะงั้น วัดอุณหภูมิแต่ละที่ทำไมไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันเลย งงมาก จะเชื่อถือได้มั้ยเนี่ย !!

K3 Non-Contact Infrared Thermometer

         ผลพวงมาจากในช่วงที่โรค COVID-19 ระบาดรอบแรก พวกเราก็ตกใจตื่นตัวกัน หน่วยงานต่างๆ ก็ไปตระเวนหาซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิ มาให้เจ้าหน้าที่ใช้จ่อหน้าผากคนที่มาเข้าออกสถานที่ในความรับผิดชอบกันเป็นอย่างเอาจริงเอาจัง จนไอ้เจ้าเครื่องยิงหน้าผากวัดไข้เนี่ยขาดตลาด ของในไทยขาดตลาด แถมเมืองจีนก็โรคระบาดหนัก โรงงานปิดผลิตไม่ได้ ยิ่งทำให้ไม่มีของ นาทีนั้นใครมีของใว้ใน Stock นี่ถือว่าเป็นพระเอกมากๆ เรียกราคาได้ พอเมืองจีนเริ่มกลับมาผลิตได้ ราคาก็ถีบตัวขึ้นไปแพงมากๆ จนจับต้องแทบไม่ไหว คนขายใจร้ายบางรายก็ดันไปเอา Infrared Thermometer ของปลอมแบบที่ใช้วงจรสุ่ม Random ตัวเลขอุณหภูมิหลอกๆ มาขาย ตามที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ มีผู้ที่หลงซื้อไปด้วยความไม่รู้ก็หลายราย  

        ผมนี้โชคดี การทำงานที่ผ่านมาของผม ทำให้ได้คลุกคลี ทั้งวงการเครื่องมืออุตสาหกรรม วงการเครื่องมือแพทย์ วงการรักษาความปลอดภัย และงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็เลยพอจะมีความรู้ในสิ่งที่มันเกี่ยวเนื่องกัน…วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ แบบชาวบ้านๆ ถึงเรื่องเครื่องวัดอุณหภูมิ Non Contact Infrared Thermometer และตัว IR Infrared Thermometer ที่เราเอามาใช้วัดไข้ คัดกรองผู้อาจติดเชื้อ COVID-19 ตัวร้อนเป็นไข้ กันอยู่ครับ

        เครื่องวัดอุณหภูมิที่เราเห็น และนำมาวัดไข้กันทุกวันนี้มันมีหลากหลายแบบ แต่ที่มีคนซื้อหามาใช้กันมากๆ มันมีอยู่ 2 แบบ แต่ด้วยความตระหนกตกใจที่เกิดจากการระบาดของโรครอบแรก เลยแห่ไปซื้อกันมาใช้ ก็ไม่รู้ว่าแบบที่ซื้อมามันถูกหลักการทำงานหรือเปล่า มันควรเอามาวัดไข้กันจริงๆ ใช่มั้ย ?  เอาละ การระบาดรอบใหม่ จะเกิดขึ้นหรือเปล่าไม่รู้ เผื่อว่าท่านผู้อ่าน อาจจะใช้ความรู้ที่ได้จากบทความนี้ ไปพิจารณาเลือกใช้เครื่องวัดอุณหภูมิได้ถูกต้องครับ

K3 Non Contact Infrared Thermometer ใช้วัดอุณหภูมิร่างกาย ทางฝ่ามือ และหน้าผาก (การวัดอุณหภูมิที่ดีควรวัดที่หน้าผาก)

       หลักการทำงานของเครื่องวัดอุณหภูมิ ถ้าเป็นชนิดมือถืออันเล็กๆ สีขาว ขอบสีฟ้า ขอบสีชมพู ขอบสีเขียว แบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 รอบแรก ไอ้แบบที่พนักงานเซเว่น อีเลฟเว่น ใช้จ่อหน้าผากเราก่อนเข้าร้าน หรือ เครื่องวัดอุณหภูมิแบบด้ามเหลืองๆ หรือตัวเหลืองขอบดำ หรือตัวสีดำๆ แบบที่พวกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้ง 2 แบบนี้ใช้หลักการทำงานเดียวกัน โดยใช้ระบบตรวจจับ นับค่าปริมาณรังสีอินฟราเรดที่แผ่ออกมาจากวัตถุ ครับ

ทีนี้เรามาดูรูปลักษณ์ ที่จริงเขาก็ผลิตแยกมาให้เห็นความแตกต่างชัดเจนครับ ตามภาพ

Non Contact Infrared Thermometer เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้

       เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก (Infrared Non Contact Thermometer) แบบตัว สีขาวขอบฟ้า หรือขอบม่วง ฯลฯ อันนี้แหละใช้งานทางการแพทย์ ใช้วัดไข้ เมื่อเอามาวัดอุณหภูมิที่หน้าผาก เครื่องจะวัดได้อุณหภูมิแกนกลางร่างกาย และเครื่องจะมีระบบคำนวณสมการ สามารถแยกแยะได้ ไม่ว่าจะวัดอุณหภูมิร่างกายขณะอยู่ในห้องแอร์ หรือนอกห้องแอร์ มันสามารถคำนวณให้ได้ (แต่อย่าไปวัดกลางแจ้งนะ เพราะระบบคำนวณมันจะเอ๋อๆ เพี้ยนๆได้) การใช้งานก็แค่เอาไปจ่อหน้าผากใกล้ๆ แล้วบีบปุ่มกดทีด้าม โดยเครื่องจะล็อคค่า Emissivity* การตรวจวัด ไว้ให้เหมาะสมกับคน ที่ 0.98 + – 0.02 และมีค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิไม่เกิน + – 0.3 องศาเซลเซียส สามารถตั้งค่าการวัดอุณหภูมิ ได้ที่ช่วง 30 – 40 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าหากตรวจพบผู้ตัวร้อนเกินช่วงอุณหภูมิที่กำหนดตั้งค่าไว้ เช่นตั้งไว้ 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าเครื่องตรวจพบผู้ที่อุณหภูมิสูงกว่าที่ตั้งไว้มันก็จะร้องเตือน และมีแสงสีกระพริบที่หน้าจอแสดงผล (การใช้งานควรหยุดพักเครื่องบ้าง ถ้าใช้งานถี่ๆ หนักๆ ระบบเครื่องอาจจะเอ๋อๆ ได้)

*Emissivity คือ ความสามารถในการสะท้อน รังสีอินฟราเรดของวัตถุ โดยผิวหนังมนุษย์จะมีค่า Emissivity = 0.98

Infrared Thermometer กับ Infrared Thermal Camera มันคนละอย่างกันนะ

เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดสำหรับอุตสาหกรรม (Infrared Thermometer IR) แบบตัวสีเหลืองๆ หรือเหลืองปนดำ หรือตัวสีดำๆ บางตัวก็ตัวเล็กๆ บางตัวมันก็จะใหญ่ๆหน่อย ตัวแบบนี้ราคาแพงมากๆ ด้วยนะ มันเหมาะสำหรับงานใช้วัด วัสดุพื้นผิวด้านอุตสาหกรรม หรือไว้ส่องความร้อนของเครื่องจักร มอเตอร์ หรือเพลาขับ ที่กำลังหมุน ที่กำลังทำงานแล้วอาจเกิดความร้อน เครื่องแบบนี้สามารถวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ – 20 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 300 องศาเซลเซียส ในตอนนั้นที่โรค COVID-19 ระบาดรอบแรก ตัวเครื่องวัดอุณหภูมิแบบ Non Contact Thermometer ทางการแพทย์ขาดตลาด  ก็มีหน่วยงาน และอาคารสำนักงาน ห้างร้านจำนวนมาก ได้ซื้อเครื่อง IR In frared Thermometer แบบนี้ นำไปใช้วัดไข้แก้ขัด แบบขอให้มีใช้ตามมาตรการป้องกันฯ ไปก่อน อันที่จริงผิดครับ มันใช้วัดอุณหภูมิผิวหนังได้ก็จริง แต่มันใช้วัดไข้ไม่ได้ครับ ค่าความคลาดเคลื่อนมันเยอะ ถ้ามีไข้มันบอกไม่ได้นะครับ เอาเครื่องแบบนี้ไปใช้วัดในห้องแอร์แบบที่ห้างดังกลางกรุงใช้อยู่ หรือจะใช้วัดนอกห้องแอร์ มันก็วัดให้ได้ทั้งนั้นแหละครับ แต่มันเพี้ยนเยอะ มันไม่แม่นยำ เครื่องแบบนี้ เอามาใช้วัดห่างๆ หน้าผากก็ยังไดครับ บางสถานที่ใช้ไอ้เครื่องสีเหลืองตัวใหญ่ๆ หรือสีดำตัวใหญ่ๆ ที่ใช้ตั้งบน Tripod 3 ขา ตั้งส่องคนเดินเข้าห้างเลยก็มี เครื่องแบบนี้ มันมีเลเซอร์กะระยะ ยิงออกไปด้วยนะ เล็งยิงส่องนำทางไปที่จุดที่ต้องการวัดอุณหภูมิได้เลย (แต่มันไม่ควรมาใช้กับคน) เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดสำหรับอุตสาหกรรมนี้ สามารถตั้งค่า Emissivity ได้ตั้งแต่ 0.10-1.00 ซึ่งนั่นทำให้สามารถใช้วัดวัสดุได้หลายอย่าง แต่มันจะไม่มีความละเอียด มันมีค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิ ถึง + – 2 องศาเซลเซียส (คลาดเคลื่อนเยอะมาก ไม่แม่นยำแบบนี้วัดไข้ไม่เจอแน่นอน) และในการใช้เครื่อง Infrared Thermometer แบบใช้ในอุตสาหกรรมนี้ ส่องหน้าผาก แล้วพบว่ามีผู้อุณหภูมิสูงเกินกว่าที่กำหนด เครื่องแบบนี้มันก็ไม่ได้แจ้งร้องเตือนอะไรนะครับ ผู้ใชงานต้องคอยดูหน้าจอ ดูตัวเลขอุณหภูมิเอาเอง (ก็เพราะมันไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้วัดไข้นี่นา) แต่ข้อดีของมันคือตัวเครื่องมันอึด ถึก ทนมากๆ ครับ เพราะมันเป็นเครื่องเกรดอุตสาหกรรม มันทน มันอึด ใช้งานทั้งวันก็ไม่เป็นไร

ได้อ่านมาจนจบถึงตรงนี้แล้ว ทีนี้เราก็ต้องมาเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกต้องกันล่ะครับ

การวัดไข้ที่จะให้แม่นยำถูกต้อง เราก็ควรเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกกับงาน ไม่เช่นนั้นเราก็อาจจะไม่รู้ว่า คนที่เดินเข้ามาให้ยิงหน้าผาก มีไข้ หรือ ไม่สบายรึปล่าว

(ในวันหน้า ผมจะมาเล่าเรื่องความแตกต่าง ระหว่าง Infrared Thermal Thermometer กับ Infrared Thermal Camera อีกทีครับ)

กัมปนาถ ศรีสุวรรณ (4/09/2563)

บริษัท ไลฟ์ โพรเทค จำกัด

Hotline : 097-1524554 id Line: Lphotline

Office : 02-9294345 Fax. 02-9294346

email : LPCentermail@gmail.com

ส่งมอบและแนะนำการใช้งาน K3 Non Contact Thermometer สินค้ารับประกัน 1 ปี และสามารถออกใบกำกับภาษีได้
เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศด้วยแสงรังสี UV-C ” Philips ” รุ่น Upper Air Ceiling Type ติดตั้งในร้านกาแฟ